Play-based learning เรียนรู้ผ่านการเล่น วิธีพัฒนาตัวเองแบบไม่เครียด
ว่าด้วยเรื่องของการเล่น พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กเล็กๆ แต่ความจริงแล้วเด็กทุกวัย รวมทั้งวัยรุ่นก็ได้ประโยชน์จากการเล่นไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดจากโควิด-19 เด็กๆ วัยเรียนหลายคนเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย ดังนั้น หากมีวิธีที่เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน ก็น่าจะช่วยกอบกู้ภาวะเรียนรู้ถดถอยได้เป็นอย่างดี
บทความนี้ Starfish Labz พาพ่อแม่ผู้ปกครองไปพบกัน Play-based Learning การเล่นที่ได้มากกว่าความสนุก ลองมาดูกันค่ะว่า เด็กๆ ได้ประโยชน์จาก Play-based Learning อย่างไรบ้าง
Play-based Learning คืออะไร?
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองคงทราบดีอยู่แล้วว่า เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเล่น โดยระหว่างที่เด็กๆ กำลังเล่นนั้น พวกเขาลองผิดลองถูก ฝึกแก้ปัญหา ใช้จินตนาการ และเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นผ่านการเข้าสังคมตามธรรมชาติของเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น จึงเกิดเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เรียกว่า Play-based Learning
Play-based Learning คือการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมปลายเปิดที่สนุกสนานโดยสอดคล้องกับหัวข้อที่กำลังเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นตามหลักการนั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่
- เลือกด้วยตนเอง : ผู้เรียนเลือกกิจกรรม วิธีการ และระยะเวลาที่จะทำด้วยตัวเอง ครูหรือผู้ปกครองอาจให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ แต่ผู้เรียนจะกำหนดรายละเอียดที่เหลือเอง
- สนุกเพลิดเพลิน : กิจกรรมที่ทำต้องก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เด็กๆ อาจเกิดความสับสน หรือ มีข้อขัดแย้งกันระหว่างทำกิจกรรม แต่ภาพรวมกิจกรรมเป็นที่น่าพอใจของทุกคน
- ไม่มีรูปแบบตายตัว : เด็กๆ มีเวลามากพอที่จะสำรวจและหาคำตอบสิ่งต่างๆ ที่สงสัยระหว่างการเล่น โดยใช้ความสนใจของตัวเองนำทาง ไม่ใช่กฏหรือแบบแผนที่ผู้ใหญ่วางไว้
- เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ : ไม่มีเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง สิ่งสำคัญคือกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่น
- ใช้จินตนาการ : การเล่นที่ดีมักมีส่วนผสมของความคิดสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการ จำลองสถานการณ์ หรือเล่นบทบาทสมมติ
กู้ความรู้ผ่านการเล่น
แม้ผลกระทบระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ จากวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองและนักการศึกษาทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันก็คือ เด็กจำนวนมากเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูให้สมรรถนะการเรียนรู้กลับมาดังเดิม
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออตโตวา ประเทศแคนาดา พบว่าการเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ได้เพียงแค่ให้ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพยายามเผชิญอุปสรรค หาวิธีแก้ปัญหา และเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้ฝึกรับมือกับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความเครียด ความสับสน การเปลี่ยนแปลง และความกังวล โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดใหญ่ ที่เด็กส่วนใหญ่สูญเสียแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ บางคนมีปัญหาเรียนไม่ทัน การเรียนถดถอย การเรียนการสอนแบบ Play-based Learning จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างราบรื่น
การเรียนออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียนจำนวนมากและสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อความเต็มใจที่จะเรียนรู้ของเด็กๆ หากผู้ปกครอง ครู นักการศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนให้สนุกสนาน นำวิธี Play-based Learning มาใช้ ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศความตึงเครียด การขาดแรงบันดาลใจของเด็กๆ ให้กลับมามีชีวิตชีวา พร้อมที่จะเรียนรู้อีกครั้ง
Play-based Learning นำมาใช้จริงได้อย่างไร
แม้ว่าการเล่นจะดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กเล็กๆ เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เด็กโตหรือกระทั่งวัยรุ่น ก็สามารถนำการเล่นมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ได้ หากยังนึกไม่ออกว่า Play-based Learning สำหรับเด็กโตและวัยรุ่นควรเป็นอย่างไร Starfish Labz มีคำแนะนำมาฝากค่ะ
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ผ่านการเล่นสำหรับนักเรียนที่โตขึ้นมาหน่อย รูปแบบอาจแตกต่างไปจาก Play & Learn แบบเด็กเล็ก แต่หัวใจของวิธีการนี้ยังเหมือนกันนั่นคือ ความสนุกสนาน ดังนั้น เมื่อพูดถึง Play-based Learning สำหรับเด็กโต พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู ควรเริ่มจากการอนุญาตให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกกับความรู้ การหาคำตอบของคำถามต่างๆ ในบทเรียน หรือกระทั่งการทดลองต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กๆ กำลังเรียนรู้เรื่องระบบสุริยะ อาจให้พวกเขาเลือกวิธีการเรียนรู้ที่พวกเขารู้สึกสนุก บางคนอาจเลือกปั้นดินน้ำมันเป็นดาวเคราะห์ต่างๆ บางคนอาจใช้วิธีอัดคลิปอธิบายตามความเข้าใจของตนเอง หรือหากกำลังเรียนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง อาจให้นักเรียนจินตนาการถึงประเทศที่ไม่มีอยู่จริง แล้วออกแบบรูปแบบการปกครองขึ้นมาใหม่ เป็นการฝึกใช้จินตนาการเพื่อทำความเข้าใจโลกความเป็นจริง
Play-based Learning จะเกิดขึ้นจริงได้ เริ่มจากผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องก้าวออกจากกรอบว่าการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการนั่งฟังครู หรือการเปิดหนังสืออ่านเท่านั้น แต่ยังมีวิธีสนุกสนานอีกมากที่หากนำมาประยุกต์ใช้ก็อาจได้ผลลัพธ์ดีอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ปิดเทอมนี้ ลองหาหัวข้อที่เด็กๆ สนใจ หรือเรื่องที่คิดว่าลูกจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม มาใช้วิธี Play-based Learning เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ ก็น่าจะช่วยกู้คืนความรู้และแรงบันดาลใจในการศึกษาเล่าเรียนให้กลับมาพร้อมสำหรับเปิดเทอมใหม่ได้อีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้ว่า การทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องทำงานกับผู้อื่น แล้วเมื่อต้องทำงานร่วมกันแล้วจะส่งเสริมใ ...
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
DIY กระถางต้นไม้ทำมือ
การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มความร่มรื่น อีกทั้งยังใช้เป็นของตกแต่งบ้านได้อีกด้วย กระถางต้นไม้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกต้นไม้ มาฝึกทำกระ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...
การเรียนรู้ในห้องเรียนสำหรับนักสร้างสรรค์และการประเมินผู้เรียนด้วยแฟ้มสะสมงาน
หลักสูตรสำหรับครูที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ...