พ่อแม่เครียด เมื่อต้องเลือกวัคซีนป้องกันโควิดให้ลูก
หลังจากเรียนออนไลน์กว่าครึ่งปี ในที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็เริ่มมีความหวังว่าจะได้ส่งเด็กๆ กลับสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง แต่ก่อนจะเปิดเทอมอย่างเป็นทางการได้นั้น การฉีดวัคซีนในเด็ก ยังคงเป็นที่ถกเถียงและสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่น้อย บทความนี้ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาฝากค่ะ
อายุเท่าไร ฉีดวัคซีนอะไรได้บ้าง?
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) แนะนำว่าเด็กที่อายุ 12-15 ปี สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยต้องเป็นชนิด mRNA ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) แนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) ซึ่งต้องฉีดทั้งหมด 2 โดส แต่ละโดสห่างกันประมาณ 21 วัน
สำหรับในเมืองไทย มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับฉีดในเด็ก 2 ชนิดคือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งทั้งสองยี่ห้อเป็นวัคซีนชนิด mRNA
สำหรับวัคซีนเชื้อตาย อย่างชิโนแวคและชิโนฟาร์มนั้น แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้รับรองประสิทธิภาพสำหรับการใช้ในเด็ก แต่ก็มีหลายประเทศนำวัคซีนชนิดเชื้อตายฉีดให้กับเด็กๆ บ้างแล้ว เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนซิโนฟาร์มสำหรับการฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564)
วัคซีนไฟเซอร์กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การฉีดวัคซีนทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง แต่เนื่องด้วยโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และวัคซีนชนิด mRNA ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ เริ่มใช้ในวัคซีนโควิด-19 เพียง 1 ปี ทำให้ยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาว อีกทั้งยังไม่เคยนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับเด็ก ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนชนิดนี้ในเยาวชนจึงยังไม่เป็นที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวว่ามีเด็กไทยได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น จากสถิติพบว่าประเทศไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สะสม 869,811 โดส มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรคจาก 90 ราย คิดเป็น 10.35 ต่อแสนโดส กรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบ 1 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน ซึ่งได้รับการรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หายเป็นปกติแล้ว
นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง มีรายงานว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แนะนำให้รัฐบาลฮ่องกง ฉีดวัคซีน mRNA ให้กับเยาวชน 12-17 ปี เพียง 1 เข็มเท่านั้น เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจหัวใจอักเสบ ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA พบว่ามีอัตราการเกิดประมาณ 16 ราย ต่อ 1 ล้านโดส ส่วนใหญ่มักมีอาการภายในหนึ่งสัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 โดยพบในเพศชายอายุ 12-17 ปี มากที่สุด
ใครควรตัดสินใจ หากเด็กกับผู้ปกครองมองต่างกัน
วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงทุกประเทศทั่วโลก ยังไม่มีใครแน่ใจถึงผลข้างเคียงโดยเฉพาะในระยะยาว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือกระทั่งตัวเด็กๆเองมีความกังวล ซึ่งต่างคนก็ต่างมีเหตุผลของตัวเอง
ผลการทำแบบสอบถาม จากสมาชิกจำนวน 971 คน จาก The national nonprofit ParentsTogether สหรัฐฯ พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนของตัวเอง พ่อแม่จำนวน 17% ไม่อนุญาตให้ลูกได้รับวัคซีน สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มนี้กังวลมากที่สุดคือ อาการข้างเคียงจากวัคซีน และผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว
สำหรับในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน หมายความว่า ถึงแม้เด็กๆ ต้องการฉีดวัคซีน แต่หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถฉีดได้
หากผู้ปกครองกับเด็กๆ มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการฉีดวัคซีน สิ่งที่ควรทำคือ ต่างฝ่ายควรนั่งลงพูดคุยและเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน พ่อแม่ฟังเหตุผลว่าลูกอยากหรือไม่อยากฉีดเพราะอะไร และบอกเหตุผลของตัวเองว่าคิดเห็นอย่างไร เด็กๆ อาจบอกว่าอยากฉีดวัคซีนเพราะจะได้กลับไปโรงเรียน ใช้ชีวิตปกติ พ่อแม่อาจให้เหตุผลว่า อยากให้ลูกฉีด เพียงแต่อยากรอดูผลข้างเคียงให้แน่ใจสักหน่อย ไม่อยากรีบร้อน
หรือในทางกลับกัน เด็กๆ อาจไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะค้นข้อมูลมาแล้วว่าความเสี่ยงที่จะอาการหนักหากติดโควิดนั้นมีน้อย แต่พ่อแม่มองว่าลูกอายุอยู่ในเกณฑ์แล้วสามารถฉีดได้ ลองพูดคุยกันด้วยเหตุผล ค้นหาข้อมูลอ้างอิงมาแบ่งปันซึ่งกันและกัน เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย แล้วตัดสินใจร่วมกันน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในที่สุด
ประเทศไหนฉีดวัคซีนอะไรให้เด็กบ้าง?
เพื่อประกอบการตัดสินใจ ลองมาดูข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของนานาประเทศกันดูบ้างค่ะ
- จีน อนุญาตให้ใช้ชิโนแวคเป็นวัคซีนฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 3 - 17 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 64 ผลเบื้องต้นจากการทดลองทางคลินิก พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก และอาการข้างเคียงไม่รุนแรง
- อินโดนีเซีย อนุญาตให้ใช้วัคซีนชิโนแวค จากประเทศจีน ในเด็กอายุระหว่าง 12 - 17 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 64
- ฮ่องกง เริ่มใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กอายุ 12 - 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 64
- ญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นประกาศแผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อป้องกันโควิดให้เด็กอายุ 12 - 15 ปีในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน
- ฟิลิปปินส์ อนุญาตให้ใช้ไฟเซอร์เป็นวัคซีนป้องกันโควิดฉุกเฉิน สำหรับเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 64
- สหรัฐ / แคนาดา / นิวซีแลนด์ อนุญาตให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 12 - 15 ปี
- สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญในสหราชอาณาจักรยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่เด็ก อายุ 12-15 ปี ยกเว้นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคโควิด
- ไทย องค์การอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์ม อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. ให้ขึ้นทะเบียนสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
(ข้อมูลจาก www.thenationalnews.com และ www.bbc.com)
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...