“ห้องเรียนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” หรือ “Collaborative Classroom” คือ ห้องเรียนแห่งการแลกเปลี่ยน และสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นไปพร้อมกับแบ่งปันไอเดียของตัวเอง เพื่อนำมาต่อยอด สร้างสรรค์ หรือแก้ปัญหา เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นห้องเรียนแห่ง “การเรียนรู้ร่วมกัน” มากกว่าการนั่งเรียนด้วยกันเพียงอย่างเดียว
บรรยากาศห้องเรียนแบบนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะการเข้าสังคม และทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญทั้งการเรียนในห้อง และการทำงานในอนาคต วันนี้เราเลยนำ 5 ไอเดียการออกแบบห้องเรียนให้เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาฝากคุณครูทุกท่านกัน
1. เริ่มจากการออกแบบร่วมกัน
การทำให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือการออกแบบห้องเรียน ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกัน ซึ่งการออกแบบในที่นี้ ไม่ได้มีเพียงการจัดบอร์ดหน้าห้อง หรือการจัดโต๊ะเก้าอี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปแบบการเรียนการสอน และการออกแบบกฎข้อตกลงในห้องเรียน โดยจะต้องมีทั้งไอเดีย และเหตุผลสนับสนุน ซึ่งคุณครูจะมีบทบาทคล้ายกับเพื่อนที่มานั่งคุยกันมากกว่าการเป็นครูที่มาสอนนักเรียน เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ซึ่งเมื่อได้ไอเดียพร้อมเหตุผลแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการโหวต ก่อนจะนำไอเดียที่ได้รับการโหวตสูงสุดมาปรับใช้กับห้องเรียนจริง ๆ
ขอบคุณภาพจาก Edvin Johansson
2.ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์
ไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจ คือการจัดที่นั่งให้มีความเป็นหน้าห้อง-หลังห้องให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจจะจัดโต๊ะเป็นรูปตัวยู หรือเป็นวงกลม หรือถ้ามีนักเรียนจำนวนมาก ก็อาจนั่งเป็นกลุ่มย่อยแทนการนั่งเรียงเป็นแถวปกติ เพื่อให้คุณครูเดินเข้าไปหากลุ่มต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น หรือใช้วิธีอื่น ๆ ที่ปรับไปตามสภาพของห้องเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญของวิธีการนี้ คือการทำให้ครูกับนักเรียนเข้าถึงกันได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามไม่ให้มีโต๊ะหลบมุมจนเด็ก ๆ รู้สึกว่าคุณครูมองไม่เห็น ไม่ได้สื่อสาร หรือเชื่อมต่อกับเขาขณะกำลังเรียน
ขอบคุณภาพจาก AbsolutVision
นอกจากการจัดโต๊ะแล้ว เรายังสามารถทำให้ทุกพื้นที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้ ทั้งผนัง หน้าต่าง กระจก หรือบอร์ดรอบ ๆ ห้อง ก็สามารถใช้สำหรับการเขียน หรือทดไอเดียต่าง ๆ อย่างห้องไหนที่มีกระจกอาจจะเตรียมปากกาสำหรับเขียนบนกระจกแล้วลบได้ หรือถ้ามีผนังก็อาจจะเตรียม post it ไว้ในห้อง หรือแปะกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ ไว้ เพื่อให้เอื้อต่อการทดสิ่งที่คิดได้แบบรวดเร็วทันใจ มีพื้นที่สำหรับช่วยกันเขียนหลาย ๆ ไอเดีย และเอื้อต่อการพูดคุยเสนอกันมากขึ้น
3. ฝึกการฟังควบคู่ไปกับการถาม
ห้องเรียนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องฟังให้เป็น และรู้จักตั้งคำถาม ซึ่งสามารถฝึกควบคู่กันไปได้ โดยเริ่มจากการเปิดโอกาส หรือสร้างพื้นที่ให้เด็กกล้าถาม เช่น หลังจบบทเรียนทุกครั้ง ให้นักเรียนเขียนคำถามที่สงสัยหย่อนลงในกล่องคนละ 1 คำถาม แล้วคาบหน้าคุณครูจะมาสรุปเรื่องที่นักเรียนสงสัยพร้อมคำตอบ ก่อนเริ่มเรียนบทเรียนใหม่ หรือจะให้แต่ละกลุ่มคิดคำถาม เพื่อถามเพื่อนกลุ่มที่มานำเสนอเป็นต้น
การกระตุ้นให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้เขาได้ฝึกทักษะการฟังไปในตัว เพราะพวกเขาจะต้องตั้งใจฟังก่อนคิดคำถามต่าง ๆ อย่างไรก็ตามคุณครูต้องไม่ลืมสื่อสารกับเด็ก ๆ ด้วยว่า คำถามที่ใช้ควรเน้นคำถามปลายเปิด เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ และไม่ถามเพื่อการโจมตี หรือทำให้คนตอบรู้สึกเหมือนกำลังถูกสอบสวนอยู่
4. ฝึกความรับผิดชอบผ่านการมอบหมายหน้าที่
นอกจากทักษะการฟังและการถาม อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือการมอบหมายบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในห้องเรียน หรือในกลุ่มย่อยอย่างชัดเจน เพื่อให้พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนสำคัญที่จะทำให้งานกลุ่มนั้นสำเร็จ และเมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าใครทำส่วนไหน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เขาอยากรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่เกิดปัญหาการแบ่งงานที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น ๆ
ขอบคุณภาพจาก Alexandra_Koch
5. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
การแลกเปลี่ยนไอเดียหรือพูดคุยกันไม่ได้จำกัดเพียงแค่การยกมือถามตอบในห้องเรียนเท่านั้น เพราะเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สนุกยิ่งขึ้น เช่น ควิซหลังเรียนผ่านเว็บไซต์ kahoot.it/ หรือ quizwhizzer.com/ เป็นต้น ส่วนอีกไอเดียหนึ่งที่เราอยากนำเสนอในช่วง
โควิด-19 คือ การเชิญวิทยากรมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนผ่าน Google Hangouts หรือ Skype เพราะวิทยากรรูปแบบออนไลน์อาจช่วยลดขั้นตอนเรื่องการติดต่อ การเดินทาง เวลา และสถานที่ แถมยังดึงความสนใจให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าได้เปลี่ยนบรรยากาศ และได้มุมมองใหม่จากวิทยากรที่มาสอนอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียที่มาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บวกกับกับไอเดียที่ผู้เขียนนำเสนอขึ้นมาใหม่ หวังว่าคุณครูจะได้นำไปปรับใช้ หรือต่อยอดจากไอเดียเหล่านี้ตามสถานการณ์และบริบทในห้องเรียนกันต่อไปค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
Related Courses
Social and cultural awareness classroom
ห้องเรียนความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ให้ผู้เ ...



นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...



นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning ห้องเรียนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กสมาธิสั้น)
แนวทางการดูแลรักษาเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะสมาธิสั้น ต้องผสมผสานการรักษาหลายวิธี ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้ ...



Micro Learning ห้องเรียนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กสมาธิสั้น)
ภาษาจีนเบื้องต้นพิชิต Hsk1
ทำความรู้จักการสอบHsk และรายละเอียดการสอบHsk1 อธิบายคำสั่งในการสอบ เทคนิคการทำข้อสอบในส่วนของคำศัพท์ การฟัง และกา ...



Related Videos


Social & Cultural Awareness แตกต่างอย่างเข้าใจ


ผู้เรียนเป็นหลัก "ห้องเรียนฐานสมรรถนะ (CBE)"


ฝ่าประเด็นท้าทายผู้อำนวยการผู้สร้างโอกาสทางการศึกษา

