เปิดห้องเรียนประสิทธิภาพสูงด้วย Active Learning สู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

จากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาครู และโรงเรียนเพื่อยกระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) รุ่นที่ 1 และ 2 หรือ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” เป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้คำปรึกษา ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนด
สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการ TSQP โดยโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม 2 แห่ง คือ โรงเรียนป่าจี้วังแดงวิทยา โดยครูเกษรินทร์ เป็งจันทร์ และครูบัณฑิตา แก้วอร่าม โรงเรียนวัดละมุด (ร.ส.พ. ราษฎร์บำรุง)
ครูเกษรินทร์ เป็งจันทร์ ครูต้นเรื่องร่วมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ Active Learning โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process
โรงเรียนป่าจี้วังแดงวิทยา สังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 2 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นมัธยมตอนต้น โดยการนำกระบวนการ STEAM Design Process จัดกิจกรรมการเรียนการสอน Makerspace โดยนำเอา STEAM Design Process เป็นกระบวนการเรียนรู้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1) ASK การคิดตั้งคำถามให้เด็กได้คิด
2) Imagine การจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงาน
3) Plan การวางแผน เตรียมวัสดุอุปกรณ์ในสิ่งที่จะทำ
4) Create ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้
5) Reflect & Redesign การสะท้อนและออกแบบใหม่
สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรม แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) ข้อมูลนำเข้า (Input) การจัดการเรียนรู้ Active Learning โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
2) กระบวนการหรือการดำเนินงาน (Process) ได้นำการจัดการเรียนรู้ Active Learning โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process มาสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนผ่านแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์เน้นกระบวนการทำงานในรูปแบบการเรียนรู้ Active Learning ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นพัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่ ทักษะการคิด การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียน รู้ทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนการเรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน ความมีวินัยในการทำงาน และมีจิตสาธารณะ ซึ่งครูผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง โดยครูและนักเรียน รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านหรือวิทยากรร่วมกันสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น ด้านสื่อการสอน หลังจากที่ได้ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ ครูได้มีการสร้างสื่อ AR เพื่อมาใช้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงานในใบงาน โดยใช้ขั้นตอนกระบวนการ STEAM Design Process 5 ขั้นตอน และลงมือจำลองเครื่องปั้นดินเผาจากเตาเผาอินทขิล รวมไปถึงการนำเสนอผลงานของตนเองให้เพื่อนๆ ในชั้นพร้อมรับฟังคำวิจารณ์เพื่อนำไปปรับปรุงผลงานต่อไป
3) การประเมินผล (Output) ใช้แบบประเมินความพึงพอใจในการใช้สื่อและเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบการเรียนรู้ Active Learning โดยใช้กระบวนการ STEAM Design Process ของครูผู้สอนแก่นักเรียน พบว่า นักเรียนสนใจในกิจกรรมที่จัดขึ้นตามกระบวนการจัดการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านความรู้ก่อน-หลังเรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งนักเรียนมีความพึงพอใจในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง
จากการนำเสนอเห็นได้ว่า โรงเรียนได้มีการนำเทคโนโลยี AR โมเดลเครื่องปั้นดินเผา และกระบวนการ STEAM Design Process เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะขั้นตอน Redesign ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิด Double Loop ที่ 2 ทำเรื่องที่ยากหรือท้าทายให้ลงลึกมากขึ้น อีกทั้งโรงเรียนได้ พยายามเปิดพื้นที่ให้เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และนำมาถ่ายทอดส่งต่อ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งที่ทำได้ดีและค่อนข้างชัดเจน
ครูบัณฑิตา แก้วอร่าม โรงเรียนวัดละมุด (ร.ส.พ. ราษฎร์บำรุง) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ หน่วยบูรณาการ “นักบันทึกสมองใส”
ได้จัดทำหน่วยบูรณาการ “นักบันทึกสมองใส” โดยยึดกรอบแนวคิด 3 กรอบ ดังนี้
1) High Functioning Classroom หรือห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ให้แก่ผู้เรียน โดยเป็นแกนหลักในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามหัวข้อห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
2) กระบวนการ STEAM Design Process เป็นการจัดการศึกษาที่ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ได้ในหลายวิชา อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่ฝึกทักษะการตั้งคำถาม
การจินตนาการ การวางแผนการทำงาน การลงมือปฏิบัติจริง และการสะท้อนผล คิดแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงาน
3) กิจกรรมบูรณาการ Webbed เป็นการบูรณาการระหว่างวิชาหลายวิชา ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดหัวเรื่องเชื่อมโยงสู่วิชาต่างๆ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกิจกรรม Active Learning ได้มีการ PLC ร่วมกันทั้งผู้อำนวยการและครู
โดยในการ PLC ครั้งที่ 1 เป็นการออกแบบการเรียนรู้ การทบทวนการจัดการเรียนการสอน Active Learningให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนรู้ และมอบหมายภาระงานในการจัดทำหน่วยบูรณาการที่เป็นเรื่องใกล้ตัวหรือกิจวัตรประจำวันของนักเรียน โดยใช้วิชาภาษาไทยเป็นหลักในการบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นการใช้ความรู้เดิมด้านทักษะการอ่าน การเขียนที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หลังจากนั้น ได้ดำเนินการ PLC ครั้งที่ 2 เป็นการออกแบบการจัดกิจกรรม Active Learning จากมาตรฐานตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นรายวิชาภาษาไทยเป็นหลัก และนำรายวิชาทั้งคณิตศาสตร์ สังคม ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์เข้ามาบูรณาการร่วม มีการนิเทศชั้นเรียนระหว่างผู้อำนวยการ คณะกรรมการนิเทศ เพื่อนครูในการให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ
สำหรับกิจกรรมตัวอย่างหน่วยบูรณาการ “นักบันทึกสมองใส” กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม โดยครูตั้งประเด็นคำถามที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการจำเหตุการณ์ในแต่ละวันได้อย่างไร และให้นักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นจากข้อคำถาม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ครูให้นักเรียนทำการศึกษาหลักการเขียนบันทึกประจำวันจากสื่อการสอน Chocolate Kitkat หลังจากนั้น ครูได้จัดกิจกรรมโดยการให้นักเรียนเล่าเรื่อง/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ฝึกเขียนบันทึกประจำวันในรูปแบบตารางและข้อความเป็นประโยคสั้นๆ สุ่มเลือกนักเรียนนำเสนอ และให้เพื่อนนักเรียนช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ให้คำแนะนำเพิ่มเติม
ผลการสะท้อนชั้นเรียน AAR เป็นการทำ PLC หลังการจัดกิจกรรม พบว่า วิชาภาษาไทย นักเรียนเขียนสะกดคำผิด การเรียงลำดับและเขียนตัวย่อของเวลาในตารางบันทึกประจำวันไม่ถูกต้อง วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนบางคนยังบวกลบเลขทศนิยมไม่ค่อยได้ (หน่วยสตางค์) วิชาสังคมศึกษา กิจกรรมขั้นแยกสินค้าจำเป็นและไม่จำเป็นใช้เวลามากเกินไป วิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนยังจำตัวอักษรไม่ค่อยได้ และวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนบางคนยังนำความรู้เรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ มาใช้ในการเลือกรับประทานอาหารไม่ได้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา วิชาภาษาไทย ครูแนะนำการเขียนตัวย่อของเวลาให้ถูกต้อง ฝึกการเขียนสะกดอย่างสม่ำเสมอ วิชาคณิตศาสตร์ ครูปรับแก้ตัวเลขในใบงานให้เป็นจำนวนเต็ม ครูทำสื่อข้อมูลรายรับ-รายจ่าย เป็นแถบประโยคและตัวเลข วิชาสังคมศึกษา ปรับกิจกรรมให้มีความยืดหยุ่น โดยพานักเรียนไปศึกษาสินค้าที่สหกรณ์ของโรงเรียนในชั่วโมงถัดไป วิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนทบทวน และทำแบบฝึกหัด เรื่อง ตัวอักษรภาษาอังกฤษเพิ่มเติม และวิชาวิทยาศาสตร์ ครูทบทวนโดยการยกตัวอย่างเมนูอาหารที่หลากหลายให้เชื่อมโยงกับอาหารหลัก 5 หมู่ ในทุกๆ คาบก่อนเริ่มเรียน ทั้งนี้ สำหรับการต่อยอดนวัตกรรม ได้มีการนำสมุดบันทึกรายรับ รายจ่ายไปใช้ในระดับชั้น ป.4-6 ในการตั้งเป้าหมายและวางแผนการใช้เงินอย่างคุ้มค่า
จากการนำเสนอเห็นได้ว่า โรงเรียนได้มีการทำ PLC ของคณะครูในการวางแผนกิจกรรมรูปแบบ Active Learning เชื่อมโยงแต่ละสาระวิชาอย่างชัดเจน ตลอดจนการเชื่อมโยงหน่วยการเรียนรู้กับสิ่งรอบตัวมาสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนได้ความรู้ และภูมิใจในชิ้นงานโดยผ่านกระบวนการ STEAM Design Process
Related Courses
ออกแบบ Booklet (กิจกรรมการเรียนรู้) อย่างไร ช่วยนักเรียนไม่ถดถอยในการเรียนรู้ช่วงปิดเทอม
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ 6 ปัจจัยการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียน ในแบบฉบับ Booklet เช็คลิสต์ 8 วิธีออกแบบกิจ ...



ออกแบบ Booklet (กิจกรรมการเรียนรู้) อย่างไร ช่วยนักเรียนไม่ถดถอยในการเรียนรู้ช่วงปิดเทอม
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...



การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอย
การประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ เรียนออนไลน์มาเป็นเวลานาน ส่ง ...



บูรณาการ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แก้ปัญห ...



Related Videos


Success Story โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP)

