Peer Learning ชวนเปียร์แชร์ความรู้ ผลัดกันเรียน ผนึกกำลังสู้ ความรู้ถดถอย
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั่วโลก ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อย เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย แม้เด็กยุคใหม่จะคุ้นเคยกับการใช้หน้าจอ แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน จึงทำให้โอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ความเข้าใจในบทเรียนระหว่างกันหายไป
บทความนี้ Starfish Labz ขอชวนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ทำความรู้จักกับการเรียนรู้แบบ Peer Learning ที่อาจช่วยให้กู้วิกฤติการเรียนรู้ถดถอยให้กับเด็กๆ ได้
Peer Learning คืออะไร?
คำว่า Peer แปลว่าเพื่อนหรือผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ดังนั้น Peer Learning จึงหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กๆ แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ในสถานการณ์ปกติที่เด็กๆ ได้ไปโรงเรียน พวกเขามีโอกาสได้ทำงานกลุ่ม ติวหนังสือ อ่านหนังสือด้วยกัน แต่เนื่องด้วยภาวะโรคระบาด ทำให้กระบวนการตรงนี้ขาดหายไป
งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยกัน ไม่เพียงแบ่งปันความรู้ แต่ยังพัฒนาทักษะการสื่อสาร เพิ่มความมั่นใจ และความสามารถที่จะควบคุมรูปแบบการเรียนรู้ของตัวเองด้วย ว่ากันเมื่อเด็กๆ เรียนรู้ร่วมกัน พวกเขาจะรู้สึกเป็นกันเอง ไม่เกร็งเหมือนกับการเรียนรู้กับครู ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเรียนรู้กับเพื่อน นำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ และความเข้าใจบทเรียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เรียนรู้ร่วมกัน เสริมพลังความรู้
ประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนหรือ Peer Learning คือ การที่ผู้เรียนได้จดจ่ออยู่กับการสร้างความเข้าใจ มากกว่าการหาคำตอบ ซึ่งความเข้าใจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้ลงมือทำงานร่วมกัน
Peer Learning แตกต่างจากการเรียนกับครู เนื่องจากการเรียนโดยมีครูผู้สอน เด็กๆ ทำได้เพียงรอรับความรู้ที่ครูมอบให้ โดยเฉพาะเมื่อเรียนออนไลน์ ซึ่งแม้จะมีข้อดีคือ ง่ายต่อการจัดการเรียนการสอน แต่ข้อเสีย คือ ขาดการตอบโต้สองทางก็อาจทำให้เข้าใจกันคลาดเคลื่อน หรือได้ความรู้ไม่ครบตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ การเรียนกับครูผ่านหน้าจอออนไลน์ เนื้อหาที่สอนอาจเป็นเนื้อหาที่เข้มข้นแต่ขาดความยืดหยุ่น เมื่อผู้เรียนไม่มีโอกาสถาม หรือไม่ได้โต้ตอบกับครูผู้สอน แม้จะมีไอเดียใหม่ๆ แต่ไม่ได้นำเสนอออกไป ทำให้ขาดกระบวนการคิดและเชื่อมโยงความรู้ ทำให้ไม่เข้าใจบทเรียนนั้นๆ ไม่สามารถจดจำข้อมูลใหม่ๆ หรือต่อยอดความรู้ได้
Peer Learning จึงทำหน้าที่เหมือนส่วนเติมเต็ม เพื่อทำให้กระบวนการเรียนรู้สมบูรณ์ขึ้น หลังจากที่เด็กๆ รับความรู้จากครูผู้สอน เมื่อนำความรู้เหล่านั้นมาทบทวน ทำงานกลุ่ม หรือติวด้วยกัน ก็สร้างความเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น ทั้งนี้ เราอาจระบุประโยชน์ของการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนได้ ดังนี้
- การที่ผู้เรียนแต่ละคนได้แบ่งปันคำตอบ ถกเถียงพูดคุยถึงวิธีคิดให้ได้มาซึ่งคำ
- ตอบนั้นๆ สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในการแก้โจทย์ปัญหาหนึ่งข้อ อาจมีวิธีคิดมากกว่าวิธีเดียว การเรียนรู้กับเพื่อนทำให้ผู้เรียนค้นพบแนวคิดที่หลากหลายเพื่อใช้แก้ปัญหา
- การได้รับฟีดแบ็คจากเพื่อนๆ เมื่อทำงานร่วมกัน คือ ประโยชน์ของ Peer Learning ที่ไม่มีกระบวนการเรียนรู้ใดทดแทนได้ สำหรับผู้ให้ฟีดแบ็คเอง ก็ได้ฝึกทักษะการสื่อสารให้เหมาะกับเพื่อนแต่ละคน สำหรับผู้ที่ได้รับฟีดแบ็ค ก็ได้รับการสะท้อนตัวตนจากเพื่อนๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาตนเองได้ต่อไป
- Peer Learning เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้เรียน เมื่อรับรู้ว่ากำลังแบ่งปันความรู้กับเพื่อนที่สนิทสนมรู้จักรู้ใจกันดี ก็ทำให้ปรับตัวได้ง่าย ไม่กลัวที่จะตั้งคำถาม อีกทั้งหากสามารถช่วยสร้างความเข้าใจให้เพื่อนๆ ได้ ผู้เรียนแต่ละคนก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
- Peer Learning เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ทบทวนตนเองว่ามีความเข้าใจบทเรียนมากเพียงใด เพราะเมื่อแบ่งปันความรู้กับเพื่อน เด็กๆ มักพบว่าที่คิดว่าเข้าใจเมื่อครูสอน จริงๆ แล้วอาจยังไม่เข้าใจดีนัก การทบทวนกับเพื่อนๆ จึงช่วยผู้เรียนได้ทบทวนตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้เพื่อให้ลูกเกิดกระบวนการ Peer Learning กับเพื่อนๆ ได้แก่
- พูดคุยกับลูกว่ามีบทเรียนเรื่องใดที่ยังไม่เข้าใจ และบทเรียนเรื่องใดที่คิดว่าเข้าใจถ่องแท้
- ให้ลูกนัดเพื่อนๆ เพื่อทบทวนบทเรียนด้วยกัน โดยให้ผู้เรียนแต่ละคนเสนอหัวข้อเรื่องที่ต้องการทบทวน เรื่องที่แต่ละคนเข้าใจ และไม่เข้าใจ
- ก่อนถึงวันนัดหมาย แนะนำให้ผู้เรียนแต่ละคนเลือกบทเรียนที่ต้องการทำความเข้าใจเพิ่มเติม และบทเรียนที่ตนเองสามารถช่วยติวให้เพื่อนได้
- แต่ละคนศึกษาบทเรียนที่จะนำมาติวให้เพื่อน และส่งคำถามเรื่องที่ไม่เข้าใจเพื่อให้เพื่อนๆ ช่วยกันหาคำตอบ
- เมื่อถึงวันนัดหมาย ให้ผู้เรียนแต่ละคนเริ่มติวในสิ่งที่ตนเตรียมตัวมา และแบ่งปันคำตอบของคำถามที่เพื่อนๆ แต่ละคนไม่เข้าใจ
เมื่อเด็กๆ ได้ทบทวนบทเรียนกับเพื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแลกเปลี่ยนความเข้าใจของผู้เรียนแต่ละคน ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น หรือบางคนอาจยังไม่เข้าใจทันที แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ได้รู้ว่าตนเองต้องศึกษาเรื่องอะไรเพิ่มเติม ถือเป็นการเตรียมพร้อมสู่การเปิดเรียนตามปกติในภาคเรียนต่อไปได้เป็นอย่างดี
แหล่งอ้างอิง (Sources):
บทความใกล้เคียง
Related Courses
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...