แชร์ TIP เขียน วPA จากโรงเรียนนำร่อง

“เปลี่ยนวิธีคิด พลิกความเชื่อ ด้วยระบบวิทยฐานะแบบใหม่”
อย่างที่ทราบว่าก่อนที่ ก.ค.ศ. จะนำแบบประเมินวิทยฐานะ วPA แบบใหม่มาใช้กับครูทั่วประเทศ ได้มีการนำไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพื่อให้ได้เกณฑ์ แบบประเมินที่มีมาตรฐานตรงตามเป้าหมายในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุย แนะแนวทางสร้างความเข้าใจในจุดเน้นที่สำคัญของการเขียน PA จากประสบการณ์จริงกับคุณครูชาญชัย ก้อใจ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย 1 ในโรงเรียนนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนประเมินวิทยฐานะแบบใหม่ หรือ วPA ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและตรงตามเป้าหมาย
วPA เป็นภาระงานเพิ่มจริงหรือไม่
วPA เป็นบันทึกข้อตกลงในการพัฒนางาน ซึ่งเป็นงานที่ครูทำในโรงเรียนเป็นประจำ ไม่ได้เป็นภาระงานที่เพิ่มแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน งานสนับสนุนหรือการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง ทั้ง 3 หัวข้อนี้อยู่ในตำแหน่งมาตรฐานครูที่ ก.ค.ศ. กำหนดซึ่งเป็นการจัดระบบงานให้สามารถตามงานด้วยตนเองได้
เขียน PA (งาน ผลลัพธ์ และตัวชี้วัด) อย่างไรให้ครอบคลุม
ก่อนที่จะมาทำ วPA จะต้องมีกรอบแนวคิดในการเขียน วPA ว่าบริบทโรงเรียนเป็นอย่างไร จากการประชุมหารือในรูปแบบ PLC โดยศึกษาข้อมูลจาก SAR ของสถานศึกษา มาตรฐานการศึกษา แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปีตามแผนยุทธศาสตร์ สังคมและสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และปัญหาด้านผู้เรียน ซึ่งในการเขียน PA จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ ภาระงานของครูเป็นส่วนที่ยากที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน 3 ด้าน 15 ตัวชี้วัด ส่วนที่ 2 คือ ประเด็นท้าทาย
โดยในส่วนที่ 1 ภาระงานที่เป็นไปตาม ก.ค.ศ. เป็นจำนวนชั่วโมงสอนที่กำหนดไว้ว่า “ไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรวมกับภาระงานอื่นแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” สำหรับครูที่มีรายวิชาที่สอนน้อยกว่าที่กำหนด สามารถนำงานอื่นๆ มารวมได้ไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง เช่น งานส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ (กิจกรรม PLC การรวมกลุ่มทำสื่อ จัดสอนซ่อมเสริม ฯล) งานพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา (งานที่ได้รับผิดชอบนอกเหนืองานสอน เช่น หัวหน้างาน หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ซึ่งภาระงานและจำนวนชั่วโมงจะอยู่ในประกาศของโรงเรียน) งานตอบสนองนโยบาย (งานที่เป็นนโยบายของสพฐ. หรือกระทรวงฯ ที่ครูได้รับมอบหมาย)
ส่วนที่ 2 งานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่งครู มีอยู่ 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนรู้ มี 8 ตัวชี้วัด ยกตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดที่ 1 สร้างหรือพัฒนาหลักสูตร อาจจะดำเนินโดยการนำหลักสูตรมาทำเป็นโครงสร้างหลักสูตรใหม่ในทักษะด้านต่างๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามโครงสร้างหลักสูตร ตัวชี้วัดคือโครงสร้างหลักสูตรที่มีการพัฒนาและนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ถือได้ว่าตัวชี้วัดของตัวชี้วัดที่ 1 เป็นโครงสร้างที่มีการพัฒนาและนำไปใช้ ตัวชี้วัดที่ 2 การออกแบบการจัดการเรียนรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนแผนการสอน แต่ยังสามารถใช้รูปแบบกระบวนการเรียนการสอนเป็นตัววัดได้ด้วย ผลลัพธ์สู่ผู้เรียน คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาจากการออกแบบ/กระบวนการในการจัดการเรียนรู้ ตัวชี้วัดที่ 4 สร้างเครื่องมือหรือพัฒนาสื่อนวัตกรรม เทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ ตัวชี้วัดนี้สามารถวัดได้ 3 งาน ทั้งการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วย ซึ่งตัวชี้วัดที่ 6 ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ครูส่วนใหญ่คิดว่าคืองานวิจัย ถ้าครูมีความสามารถทางด้านงานวิจัยสามารถเขียนเป็นงานวิจัยได้ แต่สำหรับครูที่ไม่ถนัดงานวิจัย อาจจะเขียนว่าจะประมวลความรู้หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหากระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยสรุปและนำเสนอเป็นแผ่นภาพ กราฟ หรือบรรยายให้กับนักเรียนชั้นเรียนและมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของครูและนักเรียน สิ่งที่ได้คือนักเรียนและครูได้ร่วมสรุปองค์ความรู้ของเนื้อหาและวิชาที่สอน รวมไปถึงปัญหาและแนวทางในการจัดกิจกรรมการสอนในครั้งต่อไปอย่างไร แต่ถ้าครูอยากทำวิจัยในชั้นเรียนก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ครูต้องทำการระบุจำนวนในการทำวิจัยในแต่ละภาคเรียน ตัวชี้วัดที่ 1.7 จัดบรรยากาศที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ส่วนใหญ่จะมองว่าห้องเรียนสะอาด น่าอยู่ แต่การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของครูผู้สอน ถือว่าเป็นบรรยากาศในการส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนเช่นกัน ผลลัพธ์นักเรียนได้รับแบบอย่างในการปฏิบัติตนและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตัวชี้วัด วัดได้จากปฏิบัติตนตามแบบอย่างและมีความสุขในการเรียนรู้ภายในห้องเรียน โดยมีผลงานนักเรียนและชิ้นงานของนักเรียนเป็นที่ประจักษ์ และตัวชี้วัดที่ 1.8 อบรมและพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของผู้เรียน อาจจะเสริมด้วยกิจกรรม เสริมทักษะพัฒนานักเรียน เช่น จัดโครงการเสริมอาชีพระยะสั้น ค่ายเสริมทักษะ พัฒนาคุณลักษณะของนักเรียน เป็นต้น
ด้านการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ มี 4 ตัวชี้วัด ดังนี้ ตัวชี้วัดที่ 1 จัดทำข้อมูลสารสนเทศของผู้เรียนและรายวิชา ซึ่งเป็นงานของครูประจำชั้น ครูประจำวิชา ส่วนผลลัพธ์ได้อะไรจากการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ นั่นก็คือนักเรียนได้รับการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจากการที่มีผลบันทึกไว้ดีหรือไม่ หรือว่าควรปรับปรุง แก้ไขอย่างไรกับตัวผู้เรียน ทั้งนี้ สามารถนำมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้เรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์ พฤติกรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์หรือสมรรถนะที่ปรากฎเป็นตัววัดอยู่ในเอกสารต่างๆ ตัวชี้วัดที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนในชั้นเรียนที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือมีการพัฒนามากขึ้น ตัวชี้วัดที่ 2 ดำเนินการตามระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ซึ่งเป็นงานปกติของครูในการคัดกรองนักเรียนเป็นรายบุคคล ผลลัพธ์สามารถแบ่งกลุ่มนักเรียนตามระดับความรู้ความสามารถของนักเรียน ตัวชี้วัดจัดกลุ่มผู้เรียนที่มีความแตกต่าง ด้านการเรียนรู้ให้ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้เพิ่มสูงขึ้น ตัวชี้วัดที่ 3 ปฏิบัติงานวิชาการและงานอื่นๆ ของสถานศึกษา ตัวชี้วัดที่ 4 ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ภาคี เครือข่าย และสถานประกอบการ เป็นการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคีเครือข่าย เช่น กิจกรรมประชุมผู้ปกครอง กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน สรรหาสถานประกอบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับผู้เรียน เป็นต้น
ด้านพัฒนาวิชาชีพ ตัวชี้วัดที่ 1 พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ครูแต่ละคนอาจจะศึกษาพัฒนาตนเองต่างสาขาวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งใน วPA จะไม่มีการเก็บจำนวนชั่วโมงแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากการพัฒนาของครู ได้รับการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ จากการเข้าร่วมอบรมเชิงวิชาการของครูผู้สอน ตัวชี้วัดนักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพจากการพัฒนาตนเองของครู ทั้งนี้ ยังมีตัวชี้วัดที่สำคัญในการพัฒนาทักษะอาชีพ คือ การมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการเข้าร่วมกิจกรรม PLC เพื่อแก้ไขปัญหาของการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น PLC ยังอยู่และจำเป็นต้องมีในโรงเรียน แต่แค่ไม่เก็บชั่วโมง PLC เพราะว่าครูทุกคนย่อมมีปัญหาแตกต่างกัน การระดมความคิดของครูผ่านการร่วมกิจกรรม PLC เป็นแนวทางในการแก้ปัญหานักเรียนและปรับปรุงพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้น ถ้าหากครูต้องการจะเลื่อนวิทยฐานะ สามารถใช้กิจกรรม PLC บรรยายนำเสนอในรูปแบบวิดีโอประมาณ 10 นาทีได้ อีกงานหนึ่งการเข้าร่วมนิเทศชั้นเรียนของเพื่อนครู เป็นการเปลี่ยนการนิเทศเพื่อนครู ผลลัพธ์เพื่อเรียนรู้ ศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของเพื่อนครู และนำมาปรับปรุงพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนที่ครูสอน ตัวชี้วัด นำจุดเด่นจากการนิเทศชั้นเรียนมาพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและแก้ไขปัญหาจุดด้อยจากการได้รับการนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจากเพื่อนครู
ทั้งนี้ ในการเขียนผลลัพธ์ต้องเขียนแบบเจาะลึก ปรับให้แคบลง จะทำให้การประเมินง่ายขึ้น แต่ถ้าเขียนรูปแบบกว้างๆ การประเมินจะยาก ทั้งนี้ 1 ตัวชี้วัด สามารถประเมินได้ 2 งาน ทั้งงานออกแบบจัดการเรียนรู้และงานจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย เพื่อเป็นการลดภาระในการประเมิน ในส่วนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถเขียนได้ว่าจัดกิจกรรมอย่างไร โดยการอธิบายให้กระชับถึงวิธีการ/กระบวนการในการจัดกิจกรรมเรียนรู้อย่างไร และผลลัพธ์สู่ผู้เรียนอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียน
ส่วนที่ 2 คือ ประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เขียนอย่างไรให้ตอบโจทย์ตำแหน่งวิทยฐานะ และสามารถพัฒนาเด็กได้จริง
ในส่วนที่ 2 ทาง ก.ค.ศ. ได้กำหนดของแบบการเขียน วPA ต้องแสดงให้เห็นถึงการริเริ่ม พัฒนา การจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือมีการพัฒนามากขึ้น สำหรับครูที่อยู่ในระดับไม่มีวิทยฐานะ แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุง ประยุกต์ ครูชำนาญการแสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา ครูชำนาญการพิเศษแสดงให้เห็นถึงการริเริ่ม พัฒนา ครูเชี่ยวชาญแสดงให้เห็นถึงการคิดค้น พัฒนานวัตกรรมและปรับเปลี่ยน และครูเชี่ยวชาญพิเศษแสดงให้เห็นถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ในการเขียนจะต้องสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนของผู้เรียนอย่างชัดเจน ด้านวิธีการดำเนินการให้บรรลุผลเป็นการเขียนวิธีการดำเนินการกระบวนการตลอดภาคเรียนในรูปแบบใด ซึ่งแสดงถึงหลักฐานในการทำงานเป็นกระบวนการอย่างชัดเจน ในส่วนผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวังมาจากจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ของโครงการ
การเขียน PA จะขึ้นอยู่กับวงรอบหนึ่งของปีงบประมาณ ซึ่งจะคาบเกี่ยว 2 ปีการศึกษา ซึ่งประเด็นท้าทายจะต้องทำกับเด็กทั้ง 2 ภาคเรียนหรือไม่ อย่างไร
ในการเขียน PA ส่วนตัวไม่ได้เขียนปีการศึกษา เนื่องจากพัฒนาด้วยกระบวนการซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้ง 2 ภาคเรียนในแต่ละปีการศึกษาได้ นอกจากเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. ได้มีข้อกำหนดว่า กรณีที่ครูเปลี่ยนกลุ่มสาระฯ เปลี่ยนผู้อำนวยการ หรือย้ายสถานศึกษาจะต้องทำการเขียน PA ใหม่
ความอิสระในการตั้งกรอบ PA จำเป็นที่จะต้องใช้รูปแบบที่เหมือนกันหรือไม่
ไม่จำเป็น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของนักเรียนและโรงเรียน ซึ่งอาจจะนำรูปแบบของครูท่านอื่นเป็นแนวทางในการเขียนได้
เคล็ดลับในการเขียน PA ในแบบของครูชาญชัย ก้อใจ
1) มองย้อนถึงปัญหา
2) ตั้งเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้น
3) ปรับทัศนคติของตัวเองและ mindset
4) สร้างกลุ่มเพื่อหาแนวทาง
การเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินเป็น วPA ส่งผลดีต่อนักเรียนและโรงเรียนอย่างไร
ในการประเมิน วPA ส่วนใหญ่จะเป็นการมองในห้องเรียน ซึ่งครูจะอยู่ในห้องเรียนและอยู่กับนักเรียนมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน นักเรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะอย่างเต็มที่ ด้านโรงเรียน โรงเรียนมีคุณภาพ เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะจากครู โรงเรียนย่อมมีนักเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น ตรงตามมาตรฐานของโรงเรียนและตามมาตรฐานชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนด้วย
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
บทความใกล้เคียง
Related Courses
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...



เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ และเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินวิทยฐานะ (PA)



การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning เพื่อวิทยฐานะ (PA)
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)



การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เตรียมพร้อมกับวิทยฐานะใหม่
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งวิทยฐานะครู (วPA) เพื่อการพัฒนาการศึกษาและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู



เตรียมพร้อมกับวิทยฐานะใหม่
Related Videos


เขียน วPA อย่างไร? ให้เกิดคุณค่ากับนักเรียน


6 เรื่องต้องรู้ ก่อนส่งไฟล์ดิจิทัลกับการขอมี หรือขอเลื่อนวิทยฐานะ


การเขียน วPA

